7 สิ่งที่ต้องปรับปรุง หาก LODI X กลับมาจริงๆ
- พงษธร จูงใจ
- May 27, 2024
- 4 min read
คัดลอกเนื้อหา จากบทความใน Facebook Fan Page PJNinetySeven วันที่ 26 พฤษภาคม 2567

ฟังเสียงผมอ่านเรื่องด้านล่างนี้ ให้คุณฟังได้ ตรงนี้ครับ
Summarize
การที่เพจ LODI X กลับมาโพสต์อย่างมีปริศนา ทำให้เราคิดถึงเนื้อหาเก่าๆ ที่เราเคยทำ
สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ สเกลรายการ/ดราม่า และการตัดสิน/การตัดต่อ และคะแนนที่ 3/อัตลักษ์วงการไอดอล(เจาะจงไปที่เรื่องการยิงมิกซ์)/เวลา และความยาวของรายการ/การเปิดกว้างให้แนวที่นอกเหนือจาก T-POP มีโอกาสแข่งขัน และมีโอกาสเป็นผู้ชนะได้/งานไอดอลหลังจบการแข่งขัน
-----------------------------------------------
น่าจะตื่นเต้นกันมากๆ นะครับ กับการที่อยู่ดีๆ เมื่อช่วงสายวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 เพจ LODI X ที่เราคิดว่า “เวิร์คพอยท์จะทิ้งรายการนี้ไปกับกาลเวลาเสียแล้ว” กลับมาโพสต์ว่า “ตอนนี้ใครติดตามวงไหนอยู่บ้างเอ่ย”
ทั้งแฟนคลับ สมาชิก หรือวงไอดอลเอง ก็มาแนะนำวงที่ติดตาม ซึ่งมีทั้งไทย และต่างประเทศ หรือวงของตัวเอง
บ้างก็มากวนบาทาเล่น(ทำเอาเมื่อวานที่ผมอ่านคอมเมนต์ในไลฟ์สด ผม ปสด. ไปพักนึงเลยทีเดียว)
บางคน ก็มีการค่อนขอดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีซั่นที่แล้ว
บางคนก็คร่ำครวญกับสิ่งที่ไม่สามารถหวนคืนได้
หรือบางคน ก็มโนถึงการ “แข่งของวงใหญ่เลขคู่ 2 วง” ซึ่งผมพูดในรายการว่า
"อย่าหวัง"
เพราะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ แค่ยืนบนเวทีด้วยกันก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้ามาแข่ง คงเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ ขนาดตอนที่วงเหงื่อยังอยู่ วงใหญ่วงนั้น ก็ยังไม่มีโอกาสมาแข่งกันกับวงเหงื่ออย่างที่ผมคิดไว้ (น่าจะด้วยระเบียบ และเรื่องเหตุผลทางธุรกิจ)
แต่ไม่ว่าจะยังไง แค่โพสต์นี้โพสต์เดียว ก็กลายเป็นสิ่งที่น่าคิดขึ้นมาทันทีว่า
“การที่อยู่ดีๆ เพจของรายการที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในแง่เรตติ้ง (แม้เรตติ้ง ทั้งแต่ละตอน และเฉลี่ยทั้งซีซั่น จะชนะรายการแข่งแร็ปที่มาอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันในเวลาต่อมา)/มีข้อครหา และข้อบกพร่องมากมาย จนกลายเป็นจุดด่างพล้อย กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง มันมีนอกมีในอะไรหรือไม่”
ผมวิเคราะห์เส้นทางที่เป็นไปได้ 3 เส้นทาง (ซึ่งพูดไว้ใน Quick Talk ตอนล่าสุด ลองไปฟังกันได้นะครับ)
คือ
ไม่มีอะไร แค่อยากคุย - ครับ แค่นั้นแหละ
อยากคุย แต่ เราขอเก็บข้อมูลหน่อยนะ – ผมว่าเป็นประโยชน์ดีนะครับ ในการลองหยั่งเสียงว่า ปัจจุบัน ตลาดไอดอลมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเมื่อเกือบๆ 4 ปีที่แล้ว(วันแรกที่เริ่มทำ)บ้าง ซึ่งผมสามารถพูดได้เลยว่า “เพิ่มขึ้นมากจริงๆ” และบริบทของวันนั้น กับวันนี้ ก็เปลี่ยนไป ตอนที่แข่งครั้งนั้น ก็มีเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายวงล้มไปก็เพราะเรื่องโรคภัยที่เกิดตอนนั้น วงการอื่นๆ ก็เป็นนะครับ ไม่ใช่แค่วงการไอดอล วันนี้เบาลง งานไอดอลกลับมาเพิ่มขึ้น และมีแทบจะทุกอาทิตย์(และผมก็ไปสัมผัสมาแล้ว) วงก็หาเงินจากการจำหน่ายสินค้า (Merchandise) เช่น ถ่ายรูปเชกิ หรืออื่นๆ ได้ ทำให้หลายๆ อย่าง เป็น New Normal เป็นสไตล์ของตัวเองได้
I’ll be Back - อืมมมมมม (น่าคิดจริงๆ) ถ้ามา ผมและแฟนไอดอล ช็อกแน่ๆ เพราะนี่คือ “ความเสี่ยงที่โคตรเสี่ยง” ในการเอารายการที่เคยมีปัญหาในอดีต มาทำฤดูกาลใหม่ ถ้าความรู้สึกผม ผมว่ามันเสี่ยงกว่าทำรายการใหม่นะครับ
ผมได้ลองเล่าเรื่องนี้ให้ ChatGPT ฟัง และวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่เป็นไปได้คร่าวๆ ว่า
การแค่มาคุยนั้น มีความเป็นไปได้ปานกลาง
แค่คุย แต่ขอเก็บข้อมูล มีความเป็นไปได้สูง
และการที่รายการจะกลับมา มีความเป็นไปได้ปานกลางถึงสูง
แต่จะออกหน้าไหน ต้องมาลุ้นกันอีกที แต่อยู่ดีๆ ผมก็นึกถึงสิ่งหนึ่งขึ้นมาได้ ผมได้ลองกลับไปดูวิดีโอเก่าๆ ที่ผมทำกับนน Nited Idols ไว้เมื่อปี 2564 นั่นคือ“5 สิ่งที่ต้องปรับปรุงหากมีซีซั่นใหม่”
วันนี้ผมลองยกมาให้ทุกท่านได้อ่านอีกครั้ง(มีการปรับเปลี่ยนนิดหน่อยตามสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน) และแถมอีก 2 ข้อ เป็น 7 สิ่งที่ควรต้องปรับปรุง หากจะทำซีซั่นใหม่
-------------------------------------------------------------------
การพัฒนาสเกลรายการ
เดิมทีแล้ว LODI X ถูกวางแผนให้เป็น “รายการที่จะออกอากาศทางออนไลน์ แต่ทราบว่า รายการทำด้วยมาตรฐานแบบเดียวกับรายการโทรทัศน์ (เพราะมีการเตรียมช่องทางออกอากาศไว้พร้อมแล้ว)” แต่
"คงเป็นเพราะชาติก่อนทำบุญไว้ดีหรืออย่างไร"
รายการ ได้รับโอกาส ในการนำขึ้นมาออกอากาศทางโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 12 ตอน แต่ ดูจากลักษณะแล้ว ตอนนั้น การโปรโมท ทำได้ไม่เยอะเท่าไหร่ (คงเพราะเรื่องโรคภัยตอนนั้นด้วยแหละ แต่ในทางกลับกัน วงม้า หรือ Last Idol Thailand เคยเล่นใหญ่มากๆ ในการเปิดตัว 7 สมาชิกชั่วคราวบนจอโฆษณาขนาดยักษ์ ของ Major Cineplex รัชโยธินเลย (ตามวิดีโอต่อไปนี้))
การพัฒนาสเกลรายการ สำหรับผม คิดว่า ในซีซั่นใหม่ ต้องฝากให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น ใหญ่ขึ้นมานิดหน่อย ให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโฆษณานอกบ้าน(Out of Home เช่น ป้ายโฆษณา LED) ต่างๆให้มากขึ้น แต่
"ไม่ต้องทำเป็นฟอร์มยักษ์ เพราะเสี่ยงรายการเจ๊งได้ ถ้าเรตติ้งแย่"
หรืออาจจะเอาบูธของรายการ ไปร่วมออกในงานไอดอลที่สำคัญๆ ต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ดราม่า และการตัดสินที่ต้องปรับปรุง
เราเหมือนจะ “รู้มาก” อยู่พอสมควร ว่ารายการหลายรายการ มักจะมีการ “ขายดราม่า” เพื่อ “เรียกเรตติ้ง” หรืออาจกลายเป็นการ “เรียกทัวร์” แทน ซึ่งของ LODI X นั้น เข้าข่ายอย่างหลังมากกว่าครับ
ซึ่งพูดตรงๆ ว่า เรื่องการขายอะไร เราคงลืมแก่นแท้ไปหรือไม่ว่า การจัดประกวดไอดอลแบบนี้ เราจะต้อง
“ขายความสามารถ/ความน่ารัก ผสมความฮา ของน้องๆ”
ไม่ใช่หรือ
และเรื่องของการตัดสินที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน นำมาซึ่งการให้คะแนนที่มีปัญหา และบั๊ก (Bug) ที่เป็นไปได้ อย่างกรณีที่ว่า ในการแข่งขันรอบ Battle ที่ใช้วิธียกป้ายขอแข่งขัน ถ้าไม่มีวงไหนยกป้าย วงที่อยู่บนเวที จะเข้ารอบทันที และคู่ถัดไป จะแข่ง 3 วง ซึ่งมันก็แปลกๆ จริง และถ้าเกิดกรรมการ 3 คน ให้คะแนนไม่เหมือนกันล่ะครับ จะเกิดอะไร เรื่องนี้ผมไม่ทราบ และถ้าคิดจะกลับมาจริงๆ การตัดสิน หลักเกณฑ์ และกติกา คือ “เรื่องที่สำคัญมากๆ ที่จะต้องนำไปปรับปรุงก่อนนำมาออกอากาศจริง”
การตัดต่อ และคะแนนที่ 3?
เรื่องการตัดต่อที่บางครั้ง เราดูแล้วก็รู้สึกแปลกๆ(ตัวอย่าง อยู่ในการแสดง ของวง Wish23 คุณต้องสังเกตดีๆ หรือถ้าไม่รู้ว่ามีจุดสังเกตตรงไหน ลองไปดูที่วิดีโอของคุณ OTA MAN ที่พูดถึงตอนนี้ได้ครับ)
บางครั้งก็ดึงดราม่า ราวกับใช้จิตวิทยาให้คนคล้อยตาม ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งดอกไม้ หรือก้อนหินได้
และรวมไปถึงอีกหนึ่งเรื่องที่ชวนให้พูดถึง กับการตัดต่อที่พิลึกโลกมาก กับการ
“ไม่เปิดคะแนนที่ 3”
(ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ EP3 ระหว่าง ShiningStars กับ S16 New Gen Project ตามวิดีโอด้านล่างนี้) ที่ S16 New Gen Project ได้ 2 คะแนน และเข้ารอบแล้ว แต่กลับมีการตัดเอาคะแนนที่ 3 ออกไปจากเนื้อหาของรายการ(บางคู่ที่คะแนน ได้ 2 คะแนนแล้ว คะแนนที่ 3 ก็ยังมีการเปิดอยู่นะครับ) ซึ่งเป็นเรื่องที่แลดูจะกลายเป็นความ “ไม่โปร่งใส” ขึ้นมาทันที
(ในขณะที่รายการอีกรายการในช่อง อย่าง "ไมค์หมดหนี้" ที่ใช้การตัดสินของกรรมการทั้ง 3 คน ถ้าคะแนน 2-0 แล้ว ก็ยังมีการเปิดคะแนนที่ 3 กันเป็นส่วนใหญ่นะครับ เพื่อยืนยันว่า คะแนน เป็น 2-1 หรือ 3-0)
เรื่องนี้สำคัญ ก็ต้องฝากไปด้วยเช่นกันครับ
(เพิ่มเติม: ฝากปรับปรุงเรื่องการใส่เสียงเชียร์ Sound Effect ลงไปในช่วงที่แสดงเพลงด้วยนะครับ ประมาณว่า ถ้าเป็นวิดีโอการแสดงที่ลงแยก ให้นำเสียงเชียร์ที่เป็น Sound Effect ออก มีแต่เสียงจากการแสดงอย่างเดียวล้วนๆ ไปเลยครับ)
อัตลักษณ์ของวงการไอดอล
ยากนะครับ กับเรื่องนี้ จริงๆ เรื่องนี้ผมก็รู้สึกว่า เราต้องพยายามยืดหยุ่น หรือทำยังไง ที่จะทำให้คนที่ไม่รู้จักวงการไอดอล เข้าใจวัฒนธรรมนี้ได้ โดยไม่รู้สึกรำคาญ นั่นคือ
การยิงมิกซ์ (Wotagei) ครับ
(ตัวอย่างภาพการแสดงของไอดอลในไทย ที่มีเสียงการยิงมิกซ์ของแฟนคลับนะครับ)
สำหรับคนที่ไม่เคยตามไอดอลมาก่อน แล้วมาเจอแฟนคลับที่ดูคอนเสิร์ต กำลังเชียร์ ตะโกนอะไรดังมากๆ แต่เป็นไปตามจังหวะเพลง ช่วยกันอุ้มยกขึ้นไป(Lift) ในงานไอดอลที่คุณเดินผ่านไป ขอให้คุณรู้ไว้ นั่นคือ
“วัฒนธรรมการเชียร์ไอดอลแบบญี่ปุ่นที่ถูกต้องครับ”
ซึ่งผมไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว มัน “โคตรขลัง” เลยครับ
(ซึ่งในวงใหญ่บ้านเราวงนึง แทบจะคุมกำเนิด ไม่ให้เกิดการเชียร์แบบนี้กับวงพวกเขาเลยด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่ควรจะมีนะ แต่ก็คงเป็นเพราะอยากให้เข้าถึงคนที่ไม่ใช่แฟนคลับตัวยงได้ ซึ่งผมก็ ไม่ขัดศรัทธาครับ เพราผมก็ตามวงนั้นห่างๆ แล้ว)
ซึ่งในรายการ เสียงยิงมิกซ์พี่พอจะได้ยินได้ ซึ่งมีเพียงคลิปเดียวเท่านั้น
คือในการแสดงของวง SY51 เพลง สะพานสายรุ้ง รอบ Battle
นั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมว่า "ใกล้เรื่องนี้ที่สุด"
คือจริงๆ จุดร่วมที่พอจะเป็นไปได้ คือการทำวิดีโอแยกพิเศษ ที่มีการใส่เสียงเชียร์ ยิงมิกซ์ของแฟนคลับลงไป แยกกับคลิปการแสดงที่บอกไปในข้อก่อนหน้า(แยกกันนะครับ) หรือทำเป็น Special Cut with Real Fan Wotagei ลงในช่องทางออนไลน์ หรือหากจะเอาลงทีวี ก็ต้องมีการขึ้นข้อความเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ลงไปด้วย
ความยาวรายการ
ซีซั่นที่แล้ว ได้แค่ 1 ชั่วโมง เรื่องนี้ ถ้าพิจารณาและสามารถหาเวลาออกอากาศที่ให้ความยาวที่ดีกว่านี้ได้ คุณผู้ชม ก็
"น่าจะรู้สึกคุ้ม ที่ได้รู้จักโลกของวงการไอดอลที่แท้จริงที่มากขึ้น ได้ชมโชว์ ชมการแข่งขันที่สนุก ตื่นเต้น หัวเราะไปกับความฮา และเสียอาการไปกับความน่ารักสดใส ของเมมเบอร์ได้มากขึ้น"
-------------------------------------------------------------------
นี่คือ 5 ข้อจากที่พูดถึงไปในคลิปวันนั้น แต่นี่คือ 2 ข้อใหม่ ที่ผมขอเพิ่มในวันนี้
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One Left Behind)
แม้จะยังไม่มีอะไรที่สามารถยืนยันได้ว่า รายการนี้จะกลับมา แต่ตอนนี้หลายๆ คน เริ่มด่วนคิดสรุปไปแล้วว่า ซีซันนี้ อาจให้โอกาสวงในสาย T-POP ล้วนๆ แล้ว (จากในครั้งก่อน จะมีวงสาย J-POP เข้ามาแข่งขันด้วย) ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ปัจจุบันนี้ เวิร์คพอยท์ พยายามผลักดันวงการดนตรีป๊อบของไทย (T-POP) โดยการทำรายการ T-POP Stage Show ที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน(ที่มีชื่อเสียงเป็นเสียส่วนใหญ่ สายทางเลือกแทบไม่มีโอกาส ถึงมีก็ไม่บ่อยมาก) ได้ขึ้นมาแสดงในรายการ และมีแอพลิเคชัน T-POP ของตัวเอง คงเป็นตัวแปรที่ทำให้คนคิดแบบนั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิด และพูดในรายการเสมอว่า “อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง” การพยายามผลักดัน T-POP เป็นเรื่องดี (แต่ควรทำเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีเงื่อนไขของเวลาที่ต้องทำไปอย่างแนบเนียน หลายๆ ปี ดังที่เกาหลี ญี่ปุ่น ทำสำเร็จแล้ว และต้องทำ นำเสนอ โดยไม่เป็นการยัดเยียดจนเกินงาม ให้ผสมผสานไปอย่างลงตัว ดังที่มวยไทย และอาหารไทย ทำได้มาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน) แต่วงการไอดอล จงอย่าลืมว่า ไม่ได้มีแค่แนว T-POP อย่างเดียว ยังมีแนวดนตรีอื่นๆ โดยเฉพาะ แนว J-POP ที่ถอดแนวการทำดนตรี และการดำเนินงานมาจากวงไอดอลญี่ปุ่น มาดัดแปลงรสชาติ ให้เข้ากับรสนิยมคนไทยมากขึ้น ซึ่งวงเหล่านี้ และวงส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จดังวงแถวหน้า คือวงที่ผมเรียกว่า “วงสายทางเลือก” และวงสายทางเลือกเหล่านี้ มีการเข้าถึงแฟนคลับ “ที่โคตรง่ายกว่าวงใหญ่ๆ มาก” เพราะมีกิจกรรมให้เข้าไปพบปะได้แทบจะทุกสัปดาห์(เช่นล่าสุดที่ HatoBito จัดเลือกตั้ง HatoBito 2024 Theme Song General Election หรือการที่วงต่างๆ จัดกิจกรรมถ่ายรูปกับสมาชิกของวง เป็นต้น) และวงสายทางเลือกเหล่านี้ ก็จะจับกลุ่มแสดง และจัดกิจกรรมกันทุกสัปดาห์ และแฟนคลับก็ตามมาให้กำลังใจวงที่รักกันตลอด เชียร์ ยิงมิกซ์ เฮ และสนุกไปด้วยกัน
ดังนั้น ถ้าหากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ก็อยากให้พิจารณา ให้มีวงแนว J-POP ร่วมแข่งด้วย แต่ก็ต้อง
"ทำกติกา ให้วงเหล่านี้มีโอกาส และแนวโน้ม ที่สามารถเป็นผู้ชนะได้ โดยไม่ยึดติด หรือล็อกสเปก ให้วงแนว T-POP มีโอกาสชนะอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียว"
(ซึ่งจริงๆ ผมก็มีแนวกติกาของผมที่ผมคิดไว้ เป็นการแก้ไขให้เหมาะสมมากขึ้น โดยวิธีของผม คือการใช้วิธีการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม แบบแบ่งตามแนวเพลง ก็คือแข่งกันในแนวเพลงของตัวเองก่อน เพื่อหาวงที่ดีที่สุดของแนวนั้นๆ ไปเจอกันกับอีกแนวดนตรี ในรอบชิงชนะเลิศนะครับ ลองไปดูได้ที่ https://pongsatornjungjai.wixsite.com/trilaxiaproject)
งานหลังจบซีซั่น
ในตอนนั้น หลังจบรายการไป งานไอดอลนั้น ก็แทบจะไม่มีเลย(ด้วยเพราะโรคภัย ทำให้ต้องอยู่บ้านกัน และทำให้วงหลายวง แม้กระทั่งแชมป์อย่าง FEVER ล้มไปด้วย) ตอนนี้ แม้จะยังมีโรคภัยดังที่ว่าอยู่(ก็ระมัดระวังกันด้วยนะครับ) แต่ก็เบาบางจนเข้าสู่ภาวะแทบจะปรกติแล้ว และงานไอดอลก็กลับมาจัดได้อีกครั้ง มีกันแทบทุกอาทิตย์ ทำให้ผมได้มีโอกาสไปเจอไอดอลจริงๆ มาแล้วหลายต่อหลายคน และหลายงาน และตอนที่รายการมา ก็แอบคิดว่า
“อยากให้มีงานที่รวมวงที่แข่งขันรายการนี้ มาออกงาน มาแสดง มาจำหน่ายสินค้าร่วมกัน”
แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด
ถ้าหาก LODI X กลับมาจริงๆ ก็ขอฝากอีกเรื่องนึงว่า หลังจบซีซั่น ขอให้มีการจัดงานไอดอล รวมวงที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด มาโชว์ มาสนุกกับแฟนคลับ มาจำหน่ายสินค้า ถ่ายรูประหว่างแฟนคลับกับเมมเบอร์(อาจจะต้องมีการระบุในสัญญาว่า ห้ามยุบวงจนกว่าจะเสร็จกิจกรรมตรงนี้ เพื่อดึงให้ทุกวงยังสามารถมาร่วมงานกันตรงนี้ได้) ดังที่งานที่มีทุกอาทิตย์มอบให้ เพียงความพิเศษ คือ
“การรวมกันหลังจบการแข่งขัน”
ที่ทำให้ได้อะไรที่มากกว่างานปรกติ
ทั้งนี้ อาจจะให้พอดแคสต์ หรือช่องยูทูปที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับรายการ สามารถมาลงทะเบียนเพื่อออกบูธ(ยากหน่อย) หรือขึ้นเวที หรือรับเกียรติบัตรแบบฟรีๆ(ตามความเหมาะสม) เพื่อเป็นการตอบแทนกลุ่มบุคคล ผู้ที่ช่วยประชาสัมพันธ์รายการให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
-------------------------------------------------------------------
ทั้ง 7 ข้อนี้ อาจเป็นเรื่องที่ทั้งเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ ใดๆ ก็แล้วแต่ ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต อย่าง Workpoint Entertainment แล้วล่ะครับ ว่าจะเอาอย่างไร กับ LODI X NEXT IDOL
แต่สิ่งที่สำคัญ ที่ขอฝากทุกคน ทั้งไอดอล วงไอดอล แฟนคลับ หรือแม้แต่ผู้ผลิตรายการ ได้นำไปคิด และพยายามสร้างสรรค์ คือ
เราจะทำอย่างไร ให้ไอดอล ไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่ต้องมีเกียรติ เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรี และบันเทิงของประเทศไทยได้ และที่สำคัญ คือ ศิลปินไอดอล หรือศิลปินทุกคน ต้องสามารถ
“เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับคน ทุกวัย ทุกเพศ ในสังคม ทั้งความคิด การใช้ชีวิต และการวางตัว” ได้
โดยไม่รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ต่อวงการนี้
และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ
“โปรดติดตามกันยาวๆ ต่อไปว่า เพจ LODI X จะมีความคืบหน้าอะไรเพิ่มเติมหรือไม่”
ในอนาคตครับ
-------------------------------------------------------------------
(เสริมอีกนิดนึง) นอกจากนี้ มีหลายๆ คน ที่กังวลอาถรรพ์วงเข้าชิงฯ แล้วยุบหลังจบการแข่งขัน หรือบางวง ก็ยุบระหว่างแข่งเลยก็มี
ตรงนี้ สำหรับผม ขอแสดงความคิดเห็นว่า ในตอนที่แข่งขันนั้น มันมีตัวแปรสำคัญ คือเรื่องสถานการณ์โรคภัยตอนนั้น ที่ตอนนั้นยังมี และรุนแรงกว่าวันนี้มากๆ วันนี้เบาลงแล้ว(แต่ก็ยังมีอยู่) ออกงานบ่อยๆ ก็ออกได้(ออกกันแทบทุกอาทิตย์ด้วยซ้ำไป) แถมออกงานร่วมกันด้วย สำหรับวงสายทางเลือก แถมหาเงินได้ทุกอาทิตย์ จากการจำหน่ายสินค้า(โดยเฉพาะเชกิ) การลงเพลงในสตรีมมิ่ง และยูทูป รายได้ก็มีเข้ามาตลอด มากน้อย ขึ้นอยู่กับความสามารถและความนิยมของวง
แต่ในวันนั้น พอโรคภัยตรงนั้นเข้ามา มันก็ทำให้ทุกวงการต้องหยุดชะงัก ไม่ใช่แค่วงการไอดอลหรอกครับที่กระทบ โดนหมดนั่นแหละ และหลายวง ก็ไปต่อไม่ได้ บางวง ต้องยุบ เพราะความฝันแต่ละคนไม่เหมือนกัน และหมดสัญญาพอดี ก็จบลงตัว บางวง ก็อาจจะมีปัญหา จนต้องยุบไป มันก็หลายรส หลายความรู้สึก แต่ผมว่า วงในตอนนี้ ถ้ามีแข่ง และจบไป ก็คงจะไม่ได้ยุบเร็วเหมือนตอนนั้นแล้ว เผลอๆ คนที่ตามมาหลังจบรายการ ก็จะมีเพิ่มขึ้นกว่าตอนนั้น และก็น่าจะมีแฟนคลับมาลองเยี่ยมเยียนงานไอดอลกันมากขึ้น และอยู่ได้นานมากขึ้นนะครับ
ส่วนเรื่องยุบวง ผมจะพูดสรุปง่ายๆ ว่า
มันเป็น
“สัจธรรม และเป็นของธรรมดาของโลก”
วันหนึ่ง เมื่อมีวงใหม่เกิดขึ้นมา
มันก็ต้องมีวันที่จะต้องยุบวง และสมาชิก แยกกันไปตามเส้นทางตัวเอง
ไม่มีสิ่งใดจีรังแลยั่งยืน
อย่ายึดติดกับรูป รส เกียรติยศใดๆ
ควรนึกถึงเรื่องของปัจจุบัน
และเอาอดีตมาเป็นบทเรียน
มากกว่าจะยึดติดกับมัน
และคร่ำครวญกับอดีตที่ไม่สามารถหวนคืนได้อีก
ผมฝากไว้แค่นี้ครับ
-------------------------------------------------------------------
เพชร PJNinetySeven
เจ้าของช่องยูทูป PJNinetySeven
และเจ้าของพอดแคสต์ LodiCap PCST
Original Concept Creator พิธีเปิดและปิด การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 39 ราชบุรีเกมส์ และการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมืองโอ่งเกมส์
เขียนและเรียบเรียงบทความ